พลังงาน

โอกาสและความเสี่ยงในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

Pinterest LinkedIn Tumblr

โอกาสและความเสี่ยงในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม, Whale Energy Station

ประเทศไทยเรานั้นมีการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้มากจากการที่เรามีแหล่งปิโตรเลียมมากมายทั้งบนบกและในทะเล แต่ถึงอย่างนั้น การสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยก็มีต้นทุนและความเสี่ยงมากมาย

ในกรณีที่รัฐบาลจะลงทุนสำรวจเองโดยใช้เงินภาษีของประชาชน รัฐบาลคงต้องรับความเสี่ยงที่สูงด้วยเพราะหากสำรวจแล้วไม่พบปิโตรเลียม หรือพบแต่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนในการผลิตเพื่อใช้และขาย รัฐบาลก็ต้องยุติโครงการสำรวจนั้นไปซึ่งเท่ากับสูญเงินงบประมาณไปเปล่า ๆ แต่หากสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณมากพอ รัฐบาลก็จะสามารถทำการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย หรือผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งปิโตรเลียมนั้นและได้รับผลตอบแทนในระยะยาว

ดังนั้น แทนที่รัฐบาลจะทำการสำรวจเองทั้งหมด ก็ใช้วิธีแบ่งพื้นที่ให้บริษัทเอกชนจากต่างประเทศที่มีความพร้อมทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีมาสำรวจและทำการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย รวมถึงการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งปิโตรเลียมที่สำรวจพบ ซึ่งรัฐบาลจะได้ผลตอบแทนและรายได้จากค่าภาคหลวง ภาษี การแบ่งผลประโยชน์ทางการค้า ผลกำไร และอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน

รู้จักธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

สำหรับธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตวัตถุดิบตั้งต้นหรือที่เรียกว่าธุรกิจ “ต้นน้ำ” (Upstream) สำหรับนำไปพัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอื่น ๆ ไปดูกันหน่อยว่าบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเขาทำงานกันยากง่ายแบบไหน พี่วาฬสรุปภาพใหญ่ให้เห็นชัด ๆ ใน 4 ขั้นตอนหลักของการดำเนินงานการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียม ในประเทศไทยดังนี้

  1. การสำรวจ เพื่อวิเคราะห์โอกาสค้นพบแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมและเจาะหลุมสำรวจเพื่อพิสูจน์ว่า มีน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งต้นทุนการเจาะหลุมสำรวจมีราคาตั้งแต่ร้อยล้านบาทไปจนถึงหลักพันล้านบาทต่อหลุมขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่และสภาพทางธรณีวิทยาโดยกระบวนการสำรวจมักจะใช้เวลารวมกันประมาณ 5 ปี กรณีถ้าไม่พบปิโตรเลียมก็จะต้องคืนพื้นที่ให้กับรัฐ
  2. การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ หากพบว่า “ไม่คุ้มค่า” ก็จะดำเนินการคืนแปลงสำรวจให้แก่รัฐ แต่หากมีความคุ้มค่าก็จะได้รับการอนุมัติงบลงทุนดำเนินการก่อสร้าง สร้างแท่นกระบวนการผลิต แท่นหลุมผลิต และอุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ รวมถึงการเจาะหลุมผลิต ขั้นตอนการพัฒนาแหล่งนี้จะใช้เวลาอีก 3 – 5 ปี และใช้เงินลงทุนสูงมากอาจสูงถึงหลักหมื่นล้านบาทขึ้นอยู่กับขนาดของแหล่ง
  3. การผลิต โดยปกติจะใช้เวลา 20 – 30 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ได้รับสัมปทานหรือสัญญา โดยผู้ผลิตจะมีต้องมีการลงทุนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้รับสิทธิ์เพื่อรักษากำลังการผลิต ทั้งนี้ แหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยมีลักษณะเป็นกระเปาะเล็ก ๆ จึงมีระยะเวลาผลิตสั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนเจาะหลุมผลิตเพื่อหาปิโตรเลียมในกระเปาะอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ใช้เงินลงทุนสูงทำให้แหล่งในประเทศไทยมีต้นทุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อหน่วยสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีแหล่งปิโตรเลียมเป็นกระเปาะใหญ่ เช่น เมียนมา และมาเลเซีย
  4. การรื้อถอน หลังจากที่ผลิตปิโตรเลียมจนหมดอายุสัมปทานหรือสัญญาหรือกำลังการผลิตลดลงจนถึงจุดไม่คุ้มทุนแล้ว จะต้องทำการรื้อถอนแท่นและอุปกรณ์การผลิตทั้งหมด และจะต้องปิดหลุมทุกหลุม ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 – 5 ปี

ธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง (Capital intensive) บริษัทผู้ลงทุนจะต้องรับความเสี่ยงทั้งโอกาสที่จะไม่ค้นพบปิโตรเลียม ทั้งความเสี่ยงในปริมาณผลผลิตที่ต่ำกว่าคาด และความเสี่ยงในการชำระหนี้ หากระบบไม่เอื้อกับการลงทุนและไม่เหมาะสมกับศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมก็ไม่ดึงดูดการลงทุน  กรณีรัฐจะลงทุนสำรวจเองก็เป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปพบกับความเสี่ยง

————————-

ข้อมูลอ้างอิง

https://dmf.go.th/public/list/data/index/menu/659/mainmenu/659/

https://thailand.chevron.com/-/media/thailand/news/documents/faq-by-dmf.pdf

https://dmf.go.th/public/list/data/detail/id/11948/menu/593/page/5

https://www.thailand-energy-academy.org/assets/upload/coursedocument/file/E205%20EP%20The%20National%20Energy%20Security%20and%20the%20Ways%20Forward.pdf

https://gsm.pttplc.com/content.aspx?id=Wa8FWO27Pecs0As94Dw5gQ%3D%3D