ข่าวพลังงาน

กำไร ปตท. มาจากไหนบ้าง? ใครได้ประโยชน์กันแน่?

Pinterest LinkedIn Tumblr

กำไร ปตท. มาจากไหนบ้าง? ใครได้ประโยชน์กันแน่?, Whale Energy Stationในทุก ๆ ปีหลังจากที่ ปตท. ประกาศผลประกอบการออกมา พี่วาฬเห็นว่าหลาย ๆ คนมักจะคอมเมนต์ว่าที่ ปตท. ได้กำไรเยอะ ๆ นั้นมาจากการขายน้ำมันแพง ๆ ซึ่งพี่วาฬคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดกันพอสมควรนะครับ เพราะถ้าทุกคนได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับผลประกอบการ จะเห็นว่า กำไร ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จริง ๆ แล้วมาจากไหนบ้าง ในความเป็นจริงนั้น สัดส่วนกำไรจากธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกนั้นในปี 2566 มีแค่ 7% เท่านั้นเอง ซึ่งนอกจากจะน้อยที่สุดในบรรดาธุรกิจแล้ว ยังมีสัดส่วนที่น้อยลงกว่าปีก่อน ๆ ด้วย และถ้าเราเจาะลึกลงไปอีก ก็จะรู้ว่าธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกที่ประกอบด้วยธุรกิจน้ำมันและธุรกิจ Non-Oil อย่าง กาแฟ และร้านสะดวกซื้อเนี่ย นั้นมีกำไรแค่ 1% เทียบกับรายได้ ถือเป็นกำไรที่น้อยมาก ๆ ดังนั้นการจะบอกว่า ปตท. กำไรเพิ่มจากการขายน้ำมันแพง คงไม่ถูกต้องนัก

เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพชัดเจนขึ้น พี่วาฬขอสรุปให้ฟังว่า กำไร ปตท. ปี 2566 เพิ่มขึ้นจากอะไร กำไรมาจากไหนบ้าง และใครที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจาก กำไร ปตท. แต่ถ้าใครรู้สึกว่ายาวไป ขี้เกียจอ่าน ข้ามไปตอนจบได้เลย พี่วาฬเฉลยไว้ให้แล้ว

กำไร ปตท. ปี 66 มาจากไหนบ้าง และเพิ่มขึ้นจากอะไร?

ในปี 2566 ผลการดำเนินงาน ปตท. และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 112,024 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% ของยอดขาย ซึ่งถ้าดูเฉพาะตัวเลขก็ถือว่ามีกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 65 ทีนี้หลายคนเห็นแบบนี้ก็เลยโจมตีกันใหญ่ว่าซื้อน้ำมันถูกขายน้ำมันแพงก็ต้องกำไรสิ บลา ๆ พี่วาฬเลยอยากชวนมาดูความจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับกำไร ปตท. ปี 66 ตามนี้ครับ

– จริง ๆ แล้ว ในปี 66 กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ของกลุ่ม ปตท. ปรับลดลง จากการที่กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีกำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ลดลงจากปี 65

– ผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมปรับลดลงจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยลดลง และกลุ่ม ปตท. มีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ มีผลการดำเนินงานลดลง

– กำไร ปตท. ในปีที่ผ่านมาที่เราเห็นว่าเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้สูงถึง 13,000 ล้านบาท ประกอบกับในปี 66 กลุ่มปตท. มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์น้อยลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปี 2566

– สัดส่วนกำไรส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ซึ่งเป็นธุรกิจที่แข่งขันเสรีทั้งในและต่างประเทศ โดยมีรายละเอียดตามนี้

            • ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 45%
            • ธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของ ปตท. 22%
            • ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และบริษัทย่อยอื่น ๆ 17%
            • ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 9%
            • กลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก 7% (นี่ไงที่พี่วาฬบอกไปข้างต้น ว่ากำไรจากธุรกิจนี้ที่ชอบโจมตีกัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ)

กำไร ปตท. มาจากไหนบ้าง? ใครได้ประโยชน์กันแน่?, Whale Energy Station

กำไร ปตท. เพิ่มขึ้น ใครได้ประโยชน์กันแน่?

ในแต่ละปี ปตท. จะต้องนำส่งกำไรให้ภาครัฐ โดยในปี 66 ที่ผ่านมา ปตท. นำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจให้กับรัฐแล้วประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น

  1. นำส่งรัฐในรูปแบบของภาษีเงินได้ 27% คิดเป็น 4.2 หมื่นล้านบาท
  2. กลับคืนรัฐในรูปแบบเงินปันผลในกับกระทรวงการคลัง และกองทุนวายุภักษ์ 23% คิดเป็น 3.6 หมื่นล้านบาท

โดยตั้งแต่ปี 2544 – 2566 ปตท. ได้นำส่งรายได้ให้รัฐในรูปแบบเงินปันผลและภาษีเงินได้ ไปถึง 1.24 ล้านล้านบาท ถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกับรัฐวิสาหกิจรายอื่น ๆ ที่นำส่งรายได้แผ่นดิน และเป็นส่วนช่วยรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ

 

กำไร ปตท. มาจากไหนบ้าง? ใครได้ประโยชน์กันแน่?, Whale Energy Station

นอกจากนี้ กำไร ปตท. 36% จะมีการนำไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจ สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย และอีก 14% จะถูกปันผลให้ผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ซึ่งตรงนี้ถ้าเราอยากได้ปันผลบ้าง ก็สามารถซื้อหุ้น ปตท. ในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อยได้เหมือนกันนะ

*ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ได้ประโยชน์เต็ม ๆ จาก ปตท. ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน กระทรวงการคลัง ตามด้วยกองทุนรวมวายุภักษ์ของรัฐบาลนั่นเอง ใครอยากรู้เพิ่มเติม ไปจิ้มดูข้อมูลในเว็บไซต์ ตลาดหลักทรัพย์ ได้นะครับ

ปตท. ไม่ได้มีแต่ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแล้วนะ

อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่พี่วาฬอยากให้ทุกคนรับรู้กันมากขึ้นเพื่อปรับภาพจำใหม่ได้แล้วว่า ปัจจุบัน ธุรกิจของ ปตท. ไม่ได้มีแค่ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อีกต่อไปแล้วนะครับ อย่างในปี พ.ศ. 2566 ปตท. ได้พัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน เพื่อร่วมสร้างเสถียรภาพทางพลังงานให้กับประเทศ มีธุรกิจอะไรบ้างมาดูกันครับ

1.    ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต

  • เพิ่มจุดติดตั้ง EV Charging Station แบรนด์ on-ion ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
  • ต่อยอด Hydrogen Station (สถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน) อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ให้รองรับรถบรรทุกขนส่งและรถหัวลาก
  • จัดตั้งโรงงาน NV Gotion ผลิตชุดแบตเตอรี่
  • ร่วมกับ KYMCO Group จัดตั้ง Aionex จำหน่ายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

2.   ธุรกิจใหม่นอกเหนือจากพลังงาน

  • NRPT เปิดตัว Plant & Bean ประเทศไทย โรงงานรับจ้างผลิตโปรตีนพืช 100% ที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารระดับโลก BRCGS Plant-based ที่แรก และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
  • Innobic Nutrition เปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย
  • ในด้านธุรกิจโลจิสติกส์ เปิดการขนส่งสินค้าทางรางเส้นทาง ไทย-ลาว-จีน เชื่อมโยงระบบขนส่งไทยและภูมิภาคอาเซียน

ปตท.​ ยังตั้งงบลงทุน ประจำปี พ.ศ. 2567 – 2571 จำนวน 89,203 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอีกด้วย

นอกจากด้านธุรกิจใหม่ ๆ แล้ว ปตท. ก็มีโครงการในการช่วยเหลือประเทศในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่น

  • ปลูกป่าจำนวน 86,173 ไร่ ใน 25 จังหวัดรวมถึงวางแผนระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ผ่านโครงการ PTT Net Zero
  • ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ผ่านโครงการ ชุมชนยิ้มได้ ที่มีการนำความรู้และนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. ไปถ่ายทอดให้แก่ชุมชนเกษตรกรรมใน 45 พื้นที่ 29 จังหวัดทั่วประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและเพิ่มรายได้ชุมชนกว่า 31.59 ล้านบาท และโครงการสานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ รวม 5.75 ล้านบาท
  • ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้คนไทย ในช่วงวิกฤต ผ่านโครงการลมหายใจเดียวกันและลมหายใจเพื่อน้อง
  • สำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล ตรึงราคา NGV และช่วยเหลือราคา LPG ให้กับหาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน การขยายเครดิตเทอมแก่ กฟผ. เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการช่วยเหลือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2566 รวมแล้วกว่า 31,060 ล้านบาท

เป็นไงกันบ้างครับกับข้อมูลเกี่ยวกับกำไร ปตท. ที่พี่วาฬสรุปมาให้ พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะได้คำตอบแล้วนะครับว่า คนที่ได้ประโยชน์จาก กำไร ปตท. จริง ๆ แล้วก็คือ “ประเทศไทย” เรานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบรายได้ที่นำส่งเข้ารัฐ ความมั่นคงด้านพลังงาน และการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ซึ่งถ้าเรามองแบบเป็นกลางไม่อคติ ทุกการทำธุรกิจย่อมต้องมีกำไร การที่ ปตท. ถูกแปรรูปเป็น บริษัท มหาชน แล้วมีคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยทำให้องค์กรเติบโตได้อย่างในปัจจุบัน สามารถนำส่งรายได้ให้รัฐนำไปพัฒนาประเทศมากกว่าตอนก่อนแปรรูปด้วยซ้ำ ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยพัฒนาต่อยอดด้านพลังงานแห่งอนาคต สร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ แถมเป็นองค์กรที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ พี่วาฬมองว่าเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศเรามากกว่าข้อเสียนะครับ

ส่วนใครยังรู้สึกว่าอยากให้ ปตท. กลับมาเป็นของรัฐ ราคาพลังงานจะได้ถูกลง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน พี่วาฬมองว่าประเด็นนี้ จริง ๆ เราไม่ควรไปโฟกัสที่ ปตท. เพราะราคามันไม่ได้อยู่ที่ ปตท. เป็นคนกำหนดครับ แต่เป็นเรื่องนโยบาย และโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศ ที่ปรับใช้กับทุกปั๊ม ทุกแบรนด์ ไม่ใช่แค่ ปตท. ดังนั้นการเอา ปตท. กลับไปเป็นของรัฐภายใต้โครงสร้างเดิม ก็คงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ดี อีกทั้งตลาดน้ำมันในไทยก็เป็นการแข่งขันเสรีมีทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศ ไม่ได้เป็นตลาดผูกขาดแต่อย่างใด ถ้าต้นทุนมันถูกอย่างคิดกันจริง ๆ ก็คงมีเจ้าที่ขายได้ถูกกว่าคนอื่นแล้วครับ

 

แหล่งข้อมูล

https://pttinsight.com/api/upload/issues/02.pdf

https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-41086.aspx