ธุรกิจ

4 คำถามเรื่องหุ้น ปตท. ปี 2544 ที่ทุกคนสงสัยกันมากที่สุด

Pinterest LinkedIn Tumblr

4 คำถามเรื่องหุ้น ปตท. ปี 2544 ที่ทุกคนสงสัยกันมากที่สุด, Whale Energy Station

พี่วาฬจะขอพาทุกคนย้อนกลับไปเมื่อปี 2544 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ในขณะนั้นกำลังเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เกิดข้อสงสัยและเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายและมีหลากหลายคำถามที่ติดอยู่ในใจใครหลายคนจนถึงทุกวันนี้ พี่วาฬจึงอาสารวบรวมคำถาม 4 ข้อที่จะตอบทุกข้อสงสัยที่ทุกคนอยากรู้ดังนี้  

 

พี่วาฬขอตอบทุกข้อสงสัย
4 คำถามเรื่องหุ้น ปตท. ปี 2544 ที่ทุกคนสงสัยกันมากที่สุด, Whale Energy Station

1. ทำไมปี 2544 ปตท. ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์?

ในปี 2544 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ค่าดัชนี SET ในตลาดหุ้นร่วงเหลือ 304 จากที่เคยสูงถึง 1,700 ในปี 2536 ไม่ต่างกับสถานการณ์ใน ปตท. ขณะนั้นที่กำลังเผชิญวิกฤติในองค์กรอย่างหนักและต้องการเงินทุนเพื่อปรับสภาพคล่องทางการเงิน อีกทั้ง ปตท. กำลังได้โอกาสลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ซึ่งกำลังประสบปัญหาและขายในราคาถูก แต่รัฐบาลกลับไม่สามารถแบ่งงบประมาณให้ได้ รวมถึงรัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าการขายหุ้น ปตท. จะช่วยกระตุ้นความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติและช่วยกู้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

หลังจากที่ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ ปตท. ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด พัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศไทย รวมถึงส่งเงินให้รัฐบาลจำนวนมหาศาลในทุก ๆ ปี จนไทยสามารถชำระหนี้ IMF ได้ภายใน 2 ปี นับเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวไวได้อย่างรวดเร็ว

 

2. หุ้น ปตท. IPO คืออะไร? ทำไมต้องขายหุ้น?

IPO หรือ Initial Public Offering คือการเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้บุคคลทั่วไปหรือว่านักลงทุน โดยจะทำให้บริษัทเปลี่ยนสถานะจากบริษัทเอกชนมาเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลเห็นความจำเป็นในการนำ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงเริ่มมีการจำหน่ายหุ้น ปตท. IPO เป็นครั้งแรก โดยทางรัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนบริษัท ปตท. ให้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจและได้เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาซื้อหุ้น ปตท. ได้ เนื่องจากประเทศไทยพึ่งผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มาได้ไม่นาน รัฐบาลต้องการเงินทุนเพื่อเข้ามาขยายกิจการให้คงอยู่จากผลกระทบที่รับผลกระทบอย่างหนัก ต่อมารัฐต้องการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทยจากการขายหุ้น และนำไปช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐต้องการเปิดเผยด้านความโปร่งใส เพราะบริษัทจะถูกดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ผู้ที่หุ้นสามารถตรวจสอบความโปร่งใสในการดำเนินกิจการของบริษัทได้อย่างชัดเจน

 

3. ราคาหุ้น ปตท. IPO ปี 44 ทำไมราคาถูก? 

ในปี 2544 ราคาหุ้น ปตท. ถูกประกาศขายในราคา 35 บาทต่อหุ้น โดยก่อนหน้านั้น มีการประเมินราคาที่จะขายอยู่ที่ 29-35 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกิดจากการวิเคราะห์ที่ผู้ซื้อจำยอมรับได้ ณ เวลานั้น เช่น การใช้วิธี Discounted Cash Flow, Capital Asset Pricing Model และวิธีอื่น ๆ เพื่อให้ได้ราคาดีที่สุดตามมาตรฐานตลาดทุนโลก ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ไม่ได้ถูกเกินไป ณ เวลานั้น

นอกจากนี้ ในปี 2544 ซึ่งยังเป็นช่วงที่ไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ดัชนี SET Index อยู่ที่ 280 แต่ในปัจจุบันราคาดัชนีอยู่ที่ 1,660.15 (ข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม 2565) นั่นหมายความว่าหากซื้อหุ้น ปตท. ในตอนนั้นซึ่งมีราคา 35 บาท เท่ากับว่าปัจจุบันจะมีราคาประมาณหุ้นละ 500 บาท (ราคารวมที่ยังไม่แตกพาร์) เลยทีเดียว

 

4. ปตท. เป็นของใคร? คนธรรมดาซื้อหุ้น ปตท. ได้ไหม?

ประเด็นนี้มักจะมีการเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้งว่า ปตท. เป็นของนักการเมืองหรือเฉพาะกลุ่มนักลงทุนหรือไม่ ซึ่งพี่วาฬเคยให้ข้อมูลไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ว่าไม่เป็นความจริง สามารถย้อนไปอ่านได้ที่นี่ ถ้าหากอยากรู้ว่าใครเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ปตท. บ้าง ก็สามารถตรวจสอบได้ที่ set.or.th ซึ่งปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า  51% ก็ยังคงเป็นกระทรวงการคลังหรือก็คือรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้น ปตท. รายใหญ่นั่นเอง ดังนั้นแปลว่าหุ้น ปตท. เองก็เป็นของประชาชนเช่นกัน 

ต่อมาในประเด็นที่ว่า คนธรรมดาซื้อหุ้น ปตท. ได้ไหม? จำกัดแค่นักการเมืองหรือกลุ่มนักลงทุนรึเปล่า เพราะย้อนกลับไปปี 44 ที่มีการเปิดขายหุ้น IPO ขายหมดภายใน 77 วินาที หลังเปิดขาย และมีประเด็นเข้าใจผิดที่ว่ามีการล็อกหุ้นให้กลุ่มนักการเมืองหรือไม่? ความจริงเป็นอย่างไร  พี่วาฬจะเล่าให้ฟัง

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ณ ตอนนั้นมีการแบ่งขายหุ้น ปตท. ให้นักลงทุน 3 กลุ่มใหญ่ ๆ หรือเรียกว่า Tranche ได้แก่ 

  1. สถาบันไทย 
  2. นักลงทุนบุคคล แบ่งเป็น 2.1 นักลงทุนในตลาดอยู่แล้ว และ 2.2 กลุ่มบุคคลทั่วไป
  3. กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ   

พี่วาฬขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าการที่หุ้นขายหมดเร็วเกิดจากการผู้ร่วมจัดการจำหน่ายหุ้นมีการวางแผนเตรียมการขายอย่างดี รวมถึงเดินสายประชาสัมพันธ์ให้ทั้งคนทั่วไปและกลุ่มนักลงทุน จนได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก ดังนั้นก็ไม่แปลกเลยที่เมื่อเปิดขายก็เลยขายหมดเร็ว และการที่นักการเมืองซื้อได้เยอะ เพราะตอนนั้นกลุ่มคนที่มีเงิน ส่วนใหญ่ก็คือพวกกลุ่มเศรษฐีเก่า นักธุรกิจ นักการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ ได้ลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ อยู่แล้ว พวกเขาก็เลยมีสิทธิ์ซื้อหุ้นได้จากส่วนที่บริษัทหลักทรัพย์ที่อยู่ใน Tranche กลุ่มที่ 2.1 ซึ่งเป็นไปตามวิธีการจัดจำหน่ายทั่วไปนั่นเอง 

ดังนั้นจากที่สรุปมาข้างต้น ไม่ว่าจะปี 44 หรือปัจจุบัน พี่วาฬขอบอกเลยว่าบุคคลธรรมดาทั่วไปสามารถร่วมเป็นเจ้าของ ปตท. ได้ เพียงแค่เปิดบัญชีหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โดยไปที่ บล. นั้น ๆ หรือเปิดบัญชีออนไลน์ซื้อหุ้น ปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ได้เลย นอกจากนี้หากเพื่อน ๆ สนใจซื้อหุ้นของกลุ่ม ปตท. ยังมีอีกหลายธุรกิจ ก็ลองไปศึกษาเพิ่มเติมกัน ซึ่งหุ้นของกลุ่ม ปตท. มีมากถึง 7 ตัวดังนี้

  1. PTT หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  2. PTTGC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
  3. PTTEP หรือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 
  4. IRPC หรือ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
  5. TOP หรือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
  6. GPSC หรือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
  7. OR หรือ บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) 

จากข้อมูลทั้งหมดที่พี่วาฬนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ ก็หวังว่าจะช่วยตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นหุ้น  ปตท. ต่าง ๆ ให้กับเพื่อนๆ ได้ไม่มากก็น้อย แล้วพบกันใหม่คราวหน้านะครับ

 

อ้างอิง