สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี

เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมสุดเจ๋ง เครื่องย่อยเศษอาหารจากปตท.

Pinterest LinkedIn Tumblr

พี่วาฬพาทุกคนมารู้จักเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมกันครับ แถมพี่วาฬจะพาทุกคนไปรู้จักนวัตกรรมที่คนไทยและคนต่างประเทศต่างคิดกันเพื่ออนุรักษ์โลกไปพร้อมกันครับ

เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมสุดเจ๋ง เครื่องย่อยเศษอาหารจากปตท., Whale Energy Station

สวัสดีครับทุกคน ทุกคนทราบมั้ยครับว่า ปัญหาการทานอาหารเหลือถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง ซึ่งวันนี้พี่วาฬก็ขอมาพูดถึงเจ้าเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาส่วนนี้ได้ครับ

 

ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านขยะในชุมชนของประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มมากถึง 28 ล้านตันต่อปีและคิดเป็นขยะเศษอาหาร 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งปัญหาอาหารหรือ Food waste ยังคงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและถือว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขค่อนข้างยาก เพราะว่าปริมาณขยะและอาหารเหลือทิ้งล้วนสร้างมลพิษทางกลิ่นและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้โลกของเราร้อนขึ้นนั่นเองครับ คงจะดีไม่น้อยถ้ามีเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในส่วนนี้ได้

 

วันนี้พี่วาฬขอพาทุกคนไปรู้จักกับเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาจัดการปัญหาส่วนนี้นะครับ

 

เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมคืออะไร?

ก่อนอื่นพี่วาฬขออธิบายให้เข้าใจกันก่อนว่า เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่ได้มีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเทียบเท่าปัจจุบัน จึงทำให้เทคโนโลยีในยุคนั้นมีผลเสียและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก อีกทั้งระบบเศรษฐกิจแบบ Linear Economy ที่ไม่มีการนำทรัพยากรหรือผลิตภัณฑ์บางอย่างนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นจึงเกิดผลกระทบต่อโลกปัจจุบันอย่างมาก เพราะทรัพยากรที่มีเริ่มน้อยลง ในขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น ดังนั้น เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม จึงกลายเป็นฮีโร่สำคัญที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่านั่นเองครับ  และเผื่อใครที่นึกไม่ออกว่า ‌‌‌‌เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม มีอะไรบ้าง พี่วาฬขอยกตัวอย่างให้ดูกันนะครับ เช่น เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย นอกจากจะช่วยบำบัดน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดี ยังสามารถช่วยในการลดมลพิษทางอากาศที่ดีและยังช่วยเหลือธรรมชาติได้อีกด้วย  เพราะเหล่าสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำหรือทะเลก็จะไม่ได้รับอันตรายจากสารเคมีหรือสารพิษในน้ำนั่นเองครับ

 

ปัญหา Food waste กับการแก้ไขปัญหาที่ควรทำ

จากที่เกริ่นไปในข้างต้นแล้วว่าปัญหาการทานอาหารเหลือถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและถือว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขค่อนข้างยาก พี่วาฬขอพามารู้จักกับเทคโนโลยีที่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านขยะอาหารโดยตรง นั่นก็คือเครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหารที่จะสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้  โดยจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีเครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหารเริ่มจากความตั้งใจในการดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มปตท. โดยสถาบันนวัตกรรมปตท. มีแนวคิดที่จะสร้างเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมในการแก้ปัญหาขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทางและใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีมูลค่าสูงขึ้นตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนของเสียให้กลายเป็นของดีที่ไม่เพียงแต่ดีต่อประชาชนแต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสอดรับกับนโยบายของกลุ่มปตท. ที่เรียกว่า ‘Technology for all’ ที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมสุดเจ๋ง เครื่องย่อยเศษอาหารจากปตท., Whale Energy Station

โดยหลักการทำงานของเทคโนโลยีเครื่องย่อยสลายเศษอาหารอัตโนมัติ เกิดขึ้นจากการพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติของจุลินทรีย์ สามารถผลิตเอนไซม์ในการย่อยสลายขยะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและไร้กลิ่นรบกวน 

จุลินทรีย์นี้จะทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีของเครื่องย่อยสลายเศษขยะอัตโนมัติ ซึ่งง่ายมากๆ ในการกำจัดเศษอาหารเหลือทิ้ง โดยแบ่งฟังก์ชันการทำงานหลักได้ 2 ส่วน คือ 1. ส่วนย่อยสลายขยะเศษอาหาร และ 2. ส่วนดูดซับกลิ่น ซึ่งเครื่องดังกล่าวสามารถรองรับขยะได้มาถึง 5 กิโลกรัมต่อวัน และยังใช้พื้นที่น้อยในการวาง การทำงานของจุลินทรีย์นั้นจะใช้ระยะเวลา 12 ชั่วโมง ในการย่อยสลายเศษอาหารเหล่านั้น เมื่อย่อยเสร็จเหล่าอาหารเหลือทิ้งก็จะกลายร่างเป็น วัสดุปรุงดิน หรือ Bio-Soil ที่สามารถนำไปเป็นปุ๋ยเพื่อต้นไม้จะเจริญงอกงามได้นั่นเองครับ

แนวทางต่อยอดเทคโนโลยีเครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหารสู่ท้องตลาด

เทคโนโลยีเครื่องต้นแบบสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติได้รับการทดสอบการใช้งานจริงที่ห้องอาหาร ณ สถาบันนวัตกรรมปตท. และถูกย้ายมาติดตั้งทดสอบการใช้งานจริงที่อาคารบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด เป็นระยะเวลาร่วมกว่า 2 เดือน สามารถช่วยลดขยะเศษอาหารที่ต้องนำไปกำจัดทิ้งได้ทั้งสิ้น 139.6 กิโลกรัม และสามารถเปลี่ยนขยะเศษอาหารดังกล่าวให้เป็นวัสดุปรับปรุงดินหรือ Bio – Soil  กลับมาใช้ประโยชน์ได้มากถึง 29.06 กิโลกรัม

จากผลสำเร็จดังกล่าว สถาบันนวัตกรรม ปตท. จึงได้ร่วมมือกับบริษัท อินทรีย์ อีโคไซเคิล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านการจัดการของเสียอย่างครบวงจร ร่วมกันผลักดันเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือเครื่องย่อยเศษอาหารอัตโนมัตินี้ในการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ในการใช้งานในวงกว้างต่อไปตามแนวคิด Circular Economy ที่มุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

 

เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศที่น่าสนใจ

นอกจากนี้แล้วยังมี เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม จากต่างประเทศที่น่าสนใจอย่างเช่น Ecoegg ไข่อีโค่ที่เป็นเจ้าไข่ที่ไว้ใส่แทนผงซักฟองและน้ำยาซักผ้า ภายในประกอบด้วยแร่ธาตุ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นมาเพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่จำเป็นจะต้องใช้สารเคมีในการทำความสะอาด ลดการปล่อยน้ำเสียจากการทำล้างทำความสะอาดฟองและยังช่วยประหยัดน้ำได้มากขึ้น หรือจะเป็นการเปลี่ยนเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานเหล็กให้กลายเป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมของ Lanzatech ที่จับกากของเสียไปหมักกับเชื้อจุลินทรีย์แล้วจึงเปลี่ยนไปเป็นพลังงานสะอาดในภายหลัง ซึ่งถือว่าลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาถึง 65% เลยครับ ตลอดจนการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมัน ก็ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมนะครับ

 

สุดท้ายนี้ หลายคนคงได้ตระหนักแล้วใช่มั้ยครับว่าสิ่งของที่เราทิ้งไปในแต่ละวัน สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้คือการสะสมเหล่าปัญหาของสิ่งแวดล้อมขึ้นได้ ถึงแม้ในปัจจุบันนี้จะเริ่มมีการนำเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมเข้ามา แต่ก็ยังเป็นเพียงเทคโนโลยีทางเหลืออยู่ครับ ดังนั้นพี่วาฬก็หวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ คงมีการปรับใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นหันกลายมาเป็นเทคโนโลยีกระแสหลัก เพื่อจะได้ช่วยให้สิ่งแวดล้อมที่สวยงามอยู่กับเราไปนานๆ นะครับ

 

แหล่งที่มา:

https://www.banmuang.co.th/news/economy/205659

https://bit.ly/35TIO88

https://www.ecoegg.com/product/laundry-egg/

https://greennews.agency/?p=15114