น้ำมัน

เติมน้ำมันไม่เต็มลิตร สถานีปรับแต่งหัวจ่ายได้เองจริงหรือ?

Pinterest LinkedIn Tumblr

เติมน้ำมันไม่เต็มลิตร สถานีปรับแต่งหัวจ่ายได้เองจริงหรือ?, Whale Energy Station

เชื่อว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมามีประเด็นร้อนดราม่า สถานีบริการ “เติมน้ำมัน ไม่เต็มลิตร” ที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จนต้องกลายมาเป็นเรื่องปวดหัว และเกิดความสงสัย ว่าจะเลือกเติมน้ำมันที่ไหนดี? สถานีไหนล่ะเติมเต็มลิตร? สถานีไหนเติมไม่เต็มลิตร? หรือผู้บริโภคอย่างเราจะต้องคอยมาตรวจสอบปริมาณน้ำมันเองทุก ๆ ครั้งที่เติมมั้ย ถ้าเป็นแบบนี้คงเสียเวลาแย่

พี่วาฬเข้าใจดีถึงความกังวลใจของผู้บริโภคทุกคน วันนี้พี่วาฬจะมาให้ข้อมูลให้หายสงสัยว่า ทุกวันนี้สถานีบริการที่เราเข้าไปเติมน้ำมัน กว่าจะให้บริการเติมน้ำมันเราได้ ต้องถูกตรวจสอบอย่างไร ใครกันที่คอยตรวจสอบ แล้วผู้บริโภคอย่างเราควรกังวลเรื่อง “เติมน้ำมัน ไม่เต็มลิตร” กันต่อมั้ย ไปดูกัน

 

ปั๊มต่าง ๆ ปรับแต่งหัวจ่ายน้ำมันได้ตามชอบได้จริงหรอ?

ก่อนอื่นเลยต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สถานีผู้ให้บริการน้ำมันภายในประเทศไทย “ทุกแห่ง”  ถูกควบคุมและกำกับปริมาณการจ่ายน้ำมันโดย กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ตาม พ.ร.บ. มาตรตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้หัวจ่ายน้ำมัน ต้องกำหนดอัตรา “เผื่อเหลือเผื่อขาด” หรือ ค่าความคลาดเคลื่อนของปริมาตรน้ำมันสามารถเกินและขาดได้ ไม่เกินร้อยละ 1 หรือ ไม่เกิน 50 มิลลิลิตรต่อภาชนะทดสอบขนาด 5 ลิตร ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลโลก (International Organization of Legal Metrology: OIML) ซึ่งการกำหนดค่า “เผื่อเหลือเผื่อขาด” ถูกกำหนดขึ้นมาเพราะ กฎหมายมีความเข้าใจดีว่า หัวจ่ายน้ำมันหรืออุปกรณ์ชั่งตวงอาจมีความผิดเพี้ยนตามปกติของเครื่องมือ อ้าววว!! แบบนี้ก็เป็นช่องว่างทางกฎหมายให้ปั๊มเอาเปรียบเราสิ ก็จริงอยู่ ที่เมื่อเครื่องมือหรืออุปกรณ์ชั่งตวงเกิดความผิดเพี้ยน ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องเสียประโยชน์ แต่ค่าความคลาดเคลื่อนของหัวจ่ายนั้นต้องมีการตรวจสอบเป็นประจำ เพื่อป้องกันเจตนาการปรับแต่งหัวจ่ายของสถานีบริการ ทั้งก่อนและระหว่างการดำเนินธุรกิจ ซึ่งพี่วาฬขออธิบายขั้นตอนการตรวจสอบ ดังนี้

 

ขั้นตอนการตรวจสอบโดยสำนักชั่งตวงวัด (กรมการค้าภายใน)

  • ก่อนเปิดสถานีบริการ สำนักชั่งตวงวัดจะตรวจสอบทุกตู้จ่ายน้ำมันเพื่อวัดปริมาณการจ่ายน้ำมัน ทั้งนี้ ทุกตู้จ่ายน้ำมันจะต้องมีค่าเท่ากับ 0 หรือ +/- ไม่เกิน 0.5% เท่านั้น หากผ่านการตรวจสอบจะได้รับใบรับรอง และตีตราซีลที่หัวจ่ายน้ำมัน เพื่อป้องกันการดัดแปลง แก้ไข หัวจ่ายน้ำมัน และหากถูกตรวจพบว่าสถานีบริการ มีการ ทำลายตราซีล ดัดแปลง แก้ไข หัวจ่าย รับรอง เจอโทษหนัก จำคุก 7 ปี ! ปรับอีก 280,000 บาท ได้ไม่คุ้มเสียแน่นอนน
  • หลังเปิดสถานีบริการ สถานีบริการจะต้องมีการตรวจสอบหัวจ่ายน้ำมัน และนำส่งข้อมูลให้สำนักชั่งตวงวัดเป็นประจำทุกเดือน โดยใช้เกณฑ์การตรวจสอบระหว่างใช้งาน อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดที่ +/- ไม่เกิน 1%
  • เมื่อครบ 2 ปี เจ้าหน้าที่ชั่งตวงจะเข้าไปตรวจสอบสถานีอีกครั้ง ว่าหัวจ่ายมีอัตราคลาดเคลื่อนยังอยู่ในอัตราที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งหากตรวจพบความผิดพลาด จะต้องขอใบรับรองใหม่ และในระหว่างนี้ไม่สามารถให้บริการตู้จ่ายน้ำมันได้

ซึ่งจากข้อมูลการตรวจสอบสถานีบริการทั่วประเทศ จากเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด โดยกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ที่นำมารายงาน พบว่า มีสถานีบริการที่มีหัวจ่ายคลาดเคลื่อนจำนวน 34 สถานี จาก 13,366 สถานี ทั่วประเทศ (คิดเป็น 0.25%) และหากนับเป็นจำนวนหัวจ่ายน้ำมันที่มีราว 1.8 แสน หัวจ่าย จะพบ 281 หัวจ่าย (คิดเป็น 0.13%) จากหัวจ่ายทั้งหมด ซึ่งหากดูจากสัดส่วนแล้วจะพบว่ามีสถานีที่มีความคลาดเคลื่อนของหัวจ่ายเป็นส่วนน้อยมาก

เติมน้ำมันไม่เต็มลิตร สถานีปรับแต่งหัวจ่ายได้เองจริงหรือ?, Whale Energy Station

4 วิธีสังเกตสถานีบริการง่าย ๆ ป้องกันการเติมไม่เต็มลิตร

ถึงตรงนี้หากผู้บริโภคอย่างเรายังรู้สึกกังวลอยู่อีกว่าสถานีที่เราไปใช้บริการจะเติมน้ำมันไม่เต็มลิตร เราจะตรวจสอบด้วยตัวเองได้อย่างไรได้บ้าง พี่วาฬแนะนำวิธีสังเกต 4 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

  • สังเกต ป้ายราคาน้ำมัน/ลิตร ที่ระบุหน้าสถานีบริการว่าตรงกับตู้จ่ายน้ำมัน
  • ตู้จ่ายน้ำมันตามสถานีบริการต้องมีสติกเกอร์ “วงกลมของกรมการค้าภายใน” (มีรูปครุฑสีแดง/ระบุว่าตรวจสอบแล้ว/แสดงปี พ.ศ. ปัจจุบันอยู่ด้านล่าง) หากมีสติกเกอร์ดังกล่าวแสดงว่าได้ตรวจสอบแล้ว
  • ก่อนเติมน้ำมัน ทั้งยอดขายและจำนวนลิตร ต้องเป็นเลขศูนย์
  • เมื่อเติมเสร็จให้ดูยอดขายและจำนวนลิตรให้ถูกต้อง หากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเติมน้ำมัน ร้องเรียนได้ที่สายด่วน โทร. 1569

เป็นอย่างไรบ้าง อ่านมาถึงตรงนี้จะพบว่า สถานีบริการกว่าจะเปิดให้บริการได้ จะต้องถูกตรวจสอบเข้มข้นเป็นอย่างมาก และการฝ่าฝืนหรือมีเจตนาฉ้อโกง เห็นบทลงโทษแล้ว พี่วาฬคิดว่าคงจะได้ไม่คุ้มเสีย พี่วาฬก็หวังว่าผู้บริโภคอย่างเราจะรู้สึกคลายความกังวล และสบายใจมากขึ้น ต่อไปนี้มั่นใจได้เลยว่าเติมน้ำมันเมื่อไหร่ก็ได้ “เต็มลิตร” อย่างแน่นอน

 

ที่มา:

https://www.thaipbs.or.th/news/content/335188

https://www.thairath.co.th/money/investment/oil/2749904