ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม

พี่วาฬชวนรู้ ปลูกป่า 1 ล้านไร่ลดโลกร้อนได้มากแค่ไหน ?

Pinterest LinkedIn Tumblr

พี่วาฬชวนรู้  ปลูกป่า 1 ล้านไร่ลดโลกร้อนได้มากแค่ไหน ?, Whale Energy Station

พื้นที่สีเขียวช่วยลดโลกร้อนได้จริง ๆ

พื้นที่สีเขียวที่ได้จากการปลูกต้นไม้ ช่วยลดโลกร้อนได้จริง ๆ พี่วาฬเชื่ออย่างนั้น และขอยืนยันด้วยข้อมูลการวิจัยของศูนย์วิจัยป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ศึกษาพบว่าพื้นที่ป่ากว่าหนึ่งล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 48 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่ง ปตท. ดำเนินการปลูกและดูแลรักษามาตั้งแต่ ปี 2537-2559 สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี คิดเป็นมูลค่าผลประโยชน์จากป่ามากกว่า 280 ล้านบาทต่อปี และปัจจุบันพื้นที่ป่าเหล่านี้ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า 82.66%

นับจากปี 2566 เป็นต้นไป ปตท. ตั้งใจเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้ให้กลายเป็นป่าผืนใหญ่เพิ่มอีก 1 ล้านไร่ รวมกับของเดิมเป็น 2 ล้านไร่ เช่นนี้แล้ว ความสามารถของผืนป่าที่กำลังจะเติบโตต่อไปจะยิ่งเพิ่มสมรรถนะการดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ กว่าเท่าตัว อ๊ะ..อ๊ะ..บริษัทในกลุ่ม ปตท. อีกหลายแห่งขอสมทบสนับสนุนการปลูกฟื้นฟูป่าเพิ่มให้อีก 1 ล้านไร่ด้วยเหรอ เป็นแบบนี้ก็เท่ากับเราจะมีพื้นที่ป่าไม้สีเขียวจากการปลูกและดูแลต้นไม้เพิ่มขึ้นรวมเป็น 3 ล้านไร่เลยน่ะสิ ข่าวดีแบบนี้ทำเอาพี่วาฬดีใจที่สุดเลย

ว่าแต่ เพื่อน ๆ เคยสงสัยไหม พื้นที่ป่าไม้เพิ่มมาจากไหน? พี่วาฬจะบอกให้ว่า เพิ่มมาจากการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมด้วยการปลูก ดูแล บำรุงรักษาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ควบคู่กับการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบ เพราะเมื่อต้นไม้เหล่านี้เติบโตขึ้น นอกจากจะได้ป่าร่มครึ้มทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ช่วยลดโลกร้อนได้แล้ว ป่าเกิดใหม่ยังให้ประโยชน์แก่ผู้คนที่อาศัยโดยรอบพื้นที่ทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ประโยชน์ที่ได้จากการปลูกต้นไม้เช่นนี้จะเป็นตัวผลักดันให้คนในพื้นที่ใกล้ชิดป่าเฝ้าระวังดูแลรักษาป่าไว้ เป็นวิถีพึ่งพาอาศัยระหว่างชุมชนและธรรมชาติได้อย่างสมดุลพี่วาฬชวนรู้  ปลูกป่า 1 ล้านไร่ลดโลกร้อนได้มากแค่ไหน ?, Whale Energy Station

ปลูกต้นไม้หนึ่งต้น เราและโลกได้อะไรบ้าง?

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นชนิดหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก ต้นไม้มีความสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง นำมากักเก็บในเนื้อไม้และปล่อยก๊าซออกซิเจนออกสู่ชั้นบรรยากาศให้มนุษย์หายใจ การปลูกต้นไม้จึงมีส่วนช่วยในการบรรเทาภาวะโลกร้อน ยิ่งปลูกต้นไม้มาก ก็ยิ่งเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น
พี่วาฬไปอ่านมา พบว่า ต้นไม้ให้ประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์มากเพราะต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นสามารถผลิตออกซิเจนได้ราว 200,000 – 250,000 ลิตรต่อปี รองรับความต้องการก๊าซออกซิเจนของมนุษย์ได้ถึง 2 คนต่อปีเลยทีเดียว ต้นไม้หนึ่งต้นนั้นยังมีคุณูปการด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น สามารถดูดซับคาร์บอนฯ ได้ 11 กิโลกรัมต่อวัน ดักจับมลพิษทางอากาศได้ 1.4 กิโลกรัมต่อปี องค์กรกรีนพีซถึงกับยกย่องให้ต้นไม้เป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกของโลก

พี่วาฬมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า เราจำเป็นต้องมีการคัดเลือกชนิดไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก ต้องศึกษาลักษณะและสภาพดินด้วยว่าเป็นอย่างไร เช่น สภาพกรด-ด่าง ความร่วนซุย การระบายน้ำดีหรือไม่ ลักษณะพื้นที่ลาดเอียงหรือเป็นที่ลุ่ม อยู่ใกล้-ไกลจากแหล่งน้ำแค่ไหน ถ้าปลูกต้นไม้ในพื้นที่มาก ๆ ควรปลูกในช่วงฤดูฝนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการรดน้ำต้นไม้ และควรมีการกำจัดวัชพืชปีละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยรวมทั้งทำแนวป้องกันไฟล้อมรอบพื้นที่ปลูกป่าไว้ด้วย

ปัจจุบัน มีโครงการปลูกป่าที่ดำเนินการผ่านหน่วยงานรัฐและเอกชนจำนวนมาก หนึ่งในโครงการเพิ่มพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วไทยซึ่งพี่วาฬขอยกมาเป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นและตั้งใจเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยลดโลกร้อน นั่นคือ โครงการ ปตท. จุดพลังชีวิต พลิกผืนป่า” 1 ต้นกล้า… สู่ป่าล้านที่ 2 ซึ่งลงมือปลูกต้นไม้ล็อตแรกไปแล้วจำนวน 4,500 ต้น เป็นไม้พื้นถิ่นจำนวน 25 ชนิด ได้แก่ ประดู่ป่า พะยอม แดง มะค่าแต้ และตะแบก นำมาปลูก ณ แปลงปลูกป่า ปตท. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังเพลิง ป่าม่วงค่อมและป่าลำนารายณ์ ตำบลมหาโพธิ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี ได้รับการจัดสรรพื้นที่จากกรมป่าไม้จำนวน 413 ไร่

ในปีนี้ ปตท. กำหนดเป้าหมายพื้นที่ปลูกป่ารวมทั้งสิ้น 86,173 ไร่ทั่วประเทศ ควบคู่กับการนำแปลงปลูกป่าขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER ที่จะยกระดับการปลูกฟื้นฟูป่าให้มีมาตรฐานเป็นไปตามหลักวิชาการ การปลูกป่ายังให้เราได้มากกว่าต้นไม้เพราะ ปตท. ได้ขยายต่อยอดองค์ความรู้การจัดการป่าเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนถ่ายทอดสู่ชุมชนผ่านศูนย์เรียนรู้ 3 แห่ง ดังนี้

1.ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี: พื้นที่ 786 ไร่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์  ฟื้นฟูมาจากนากุ้งร้างกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนในระดับประเทศและภูมิภาค รวมทั้งเป็นต้นแบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืนร่วมกับชุนชนและหน่วยงานภาครัฐ

2.ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง: พื้นที่ 12 ไร่ อยู่บน ถ.สุขาภิบาล 2 เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดคนเมือง ใช้การปลูกต้นไม้แบบผสมผสานและเป็นแหล่งสะสมพันธุ์ไม้พื้นถิ่นของกรุงเทพฯ

3.ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์: พื้นที่ 351.35 ไร่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้และนวัตกรรมการฟื้นฟูป่ารูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการปลูกต้นไม้แบบบูรณาการ “วนเกษตร” ที่ปลูกไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชสวน การทำนาแบบผสมผสาน และเป็นพื้นที่ปลูกป่าโครงการนำร่องที่เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยสาขาป่าไม้

ที่มาข้อมูล

https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-40874.aspx

https://www.pttplc.com/th/Sustainablegrowthforall/Planet/Planet.aspx

https://www.opsmoac.go.th/kamphaengphet-article_prov-files-402891791792

http://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/58

https://www.tgo.or.th/2020/file_managers/uploads/file_managers/source/PUBLICATION/final%20Tree_version%2002.pdf

https://www.facebook.com/SeubNakhasathienFD/photos/a.191738355826/10159437226085827/