พลังงาน

แก๊งค์พี่วาฬชวนเดินทาง สำรวจแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย

Pinterest LinkedIn Tumblr

แก๊งค์พี่วาฬชวนเดินทาง สำรวจแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย, Whale Energy Station

ประเทศไทยมีการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมบนบกมานานแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2464  จนได้สำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยในช่วงปี พ.ศ.2515-2516 เป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติและแหล่งผลิตน้ำมันดิบ กว่าที่จะสามารถนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานในประเทศเป็นของตนเองครั้งแรกและสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้อย่างจริงจัง สร้างงานสร้างเงินสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

แต่ในเมื่อประเทศไทยมีแหล่งปิโตรเลียมเป็นของตนเองแบบนี้แล้ว ทำไมยังต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ? มาร่วมเดินทางไปกับแก๊งค์พี่วาฬและเพื่อน ๆ  เราจะไปสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยกัน สำรวจกันเล้ย!!

แหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญในประเทศไทย มีที่ไหนบ้าง?

ประเทศไทยสำรวจพบแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ ๆ ในทะเลอ่าวไทยและบนบกกระจายอยู่หลายที่ ดังนี้

แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ

  • แหล่งผลิตในทะเล เช่น แหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ แหล่งเอราวัณ แหล่งปลาทอง แหล่งสตูล แหล่งไพลินเหนือ แหล่งไพลินใต้ และแหล่งฟูนาน เป็นต้น
  • แหล่งผลิตบนบก เช่น แหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี และแหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นต้น

แหล่งผลิตน้ำมันดิบ

  • แหล่งผลิตในทะเล เช่น แหล่งจัสมิน แหล่งวาสนา แหล่งเบญจมาศ แหล่งบัวหลวง และแหล่งนงเยาว์ เป็นต้น
  • แหล่งผลิตบนบก เช่น แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร แหล่งน้ำมันดิบวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ แหล่งน้ำมันดิบอู่ทอง แหล่งน้ำมันดิบสังขจาย จ.สุพรรณบุรี และแหล่งน้ำมันดิบฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

ไทยมีทั้งน้ำมันและก๊าซที่ขุดได้ในประเทศ  ทำไมยังต้องนำเข้าอีก?

จากข้อมูลจากกระทรวงพลังงานก็พบว่า แม้ประเทศไทยมีทั้งแหล่งปิโตรเลียมก๊าซธรรมชาติและแหล่งปิโตรเลียมน้ำมันดิบกระจายอยู่หลายแห่งก็ตาม แต่อัตราการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานทั้งหมดภายในประเทศ เพราะเรามีกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้เพียง 10%-15% ของความต้องการใช้ทั้งประเทศในขณะที่กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติก็ทำได้ราว 50%-60% ของความต้องการใช้ทั้งประเทศเช่นกัน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยยังต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบอีกประมาณ 90% และนำเข้าก๊าซธรรมชาติราว 40% เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศนั่นเอง

และด้วยลักษณะทางธรณีวิทยาของประเทศไทยไม่ได้มีแหล่งปิโตรเลียมแหล่งใหญ่และลึก แต่กลับเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีลักษณะเป็นกระเปาะเล็กๆ และมีปริมาณไม่มากนัก  ซึ่งหลุมผลิตน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากกระเปาะเล็กๆ เหล่านี้จะมีระยะเวลาการผลิตสั้น ประเทศไทยจึงต้องมีการลงทุนการสำรวจและเจาะหลุมผลิตอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมากเพื่อสำรวจหาปิโตรเลียมในกระเปาะอื่นๆ ต่อไป ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้แหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยมีต้นทุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อหน่วยสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีแหล่งปิโตรเลียมในลักษณะเป็นกระเปาะใหญ่ เช่น แหล่งปิโตรเลียมในเมียนมา และในมาเลเซีย

แก๊งค์พี่วาฬชวนเดินทาง สำรวจแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย, Whale Energy Station

ดังนั้นพี่วาฬคิดว่าจะเอาราคาพลังงานไม่ว่าน้ำมันหรือค่าไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านมาเปรียบเทียบกับราคาพลังงานในประเทศไทยก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นที่มีความสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่นะคร้าบ

——————————-

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.sarakadee.com/2011/09/30/30th-erawan/2/

https://dmf.go.th/public/list/data/index/menu/652/mainmenu/652

http://library.dmr.go.th/elib/cgi-bin/opacexe.exe?op=mmvw&db=Main&sid=undefined&skin=u&usid=undefined&mmid=14680&bid=22272