ธุรกิจ

ธุรกิจเพื่อสังคม คืออะไร? ช่วยเหลือสังคมได้จริงหรือไม่? มาหาคำตอบกัน

Pinterest LinkedIn Tumblr

เพื่อน ๆ เคยสงสัยไหมครับว่าเวลามีคนพูดถึง ‘ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)’ เขาหมายถึงอะไรกัน? ธุรกิจเพื่อสังคมสร้างกำไรไหม? หรือเน้นช่วยเหลือสังคมอย่างเดียว? ถ้าอยากช่วยเหลือสังคม ทำไมไม่จัดตั้งเป็นองค์กรการกุศล หรือ องค์กร NGO ไปเลย ทำไมต้องมาเปิดเป็นกิจการ? วันนี้พี่วาฬขอทำหน้าที่ช่วยไขทุกข้อสงสัย ‘ธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร? สร้างกำไรและช่วยเหลือสังคมได้จริงหรือไม่? มาเริ่มกันเลย ~

ธุรกิจเพื่อสังคม คืออะไร? ช่วยเหลือสังคมได้จริงหรือไม่? มาหาคำตอบกัน, Whale Energy Station

 

 

ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) คืออะไร

ธุรกิจเพื่อสังคม Social Enterprise (SE) หรือที่หลายคนอาจเรียกว่า ‘กิจการเพื่อสังคม’ คือโมเดลการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่นำเอาโมเดลธุรกิจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสังคม/สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กล่าวให้เห็นภาพคือ จากเดิมที่ต้องพึ่งพาเงินบริจาคหรือเงินทุนซึ่งอาจมีความไม่แน่นอน กลุ่มคนผู้มุ่งหวังเปลี่ยนแปลงสังคมจึงหามาปรับเปลี่ยนองค์กรหรือแนวทางการดำเนินงานของตนเองให้มีลักษณะเป็น ‘กิจการ’ ที่สามารถสร้างเงินทุนภายในให้แก่ตนเองอย่างยั่งยืนและสามารถช่วยเหลือสังคมต่ออย่างต่อเนื่องและเกิดผล

แม้จะมีเรื่องผลประกอบการเข้ามาข้องเกี่ยว เป้าหมายสำคัญหลักของ SE จึงยังคงอยู่ที่การขจัด, บรรเทา และหรือแก้ไขปัญหาสังคม บนรากฐานความสามารถในการสร้างกำไรหรือเงินทุนของตนเอง โดยไม่ต้องคอยพึ่งพาเงินบริจาคหรือเงินทุนจากแหล่งอื่นที่มักไม่ต่อเนื่องและแน่นอน

ตัวอย่างธุรกิจเพื่อสังคม

  • โครงการชุมชนยิ้มได้ (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) รวมพลังสร้างรอยยิ้มเพื่อเกษตรกรไทย เป็น “พลังพัฒนา เศรษฐกิจชุมชน” เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านการประชาสัมพันธ์ออนไลน์ผ่าน Website: www.ชุมชนยิ้มได้.com และ Facebook Fanpage: ชุมชนยิ้มได้ โดย กลุ่ม ปตท. นับเป็นการสร้างการตลาดชุมชน มุ่งเน้นช่วยเหลือให้สินค้าชุมชนเป็นที่รับรู้และขายได้มากขึ้น โดย ปตท. ได้มีการคัดสรรสินค้าคุณภาพที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลจากชุมชนเครือข่ายของ ปตท. ทั่วประเทศกว่า 180 รายการ

ธุรกิจเพื่อสังคม คืออะไร? ช่วยเหลือสังคมได้จริงหรือไม่? มาหาคำตอบกัน, Whale Energy Station

(ที่มา: ชุมชนยิ้มได้ โดย กลุ่ม ปตท.)

 

  • Local Alike ธุรกิจการจัดทัวร์ท้องถิ่น ที่มอบหน้าที่ในการออกแบบแพ็คเกจท่องเที่ยวและนำเที่ยวเองให้กับชาวบ้านและเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกสรรแพ็กเกจท่องเที่ยวชุมชนที่หลากหลายได้ด้วยตนเองผ่านเว็บแพลตฟอร์ม Local Alike กำไรส่วนใหญ่เป็นของชุมชนและแบ่งจำนวนหนึ่งแก่แพลตฟอร์ม เป้าหมายหลักของ Local Alike จึงไม่ใช่การสร้างกำไรเพื่อกำไรแก่ตนเอง แต่เพื่อชุมชนและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ธุรกิจเพื่อสังคม คืออะไร? ช่วยเหลือสังคมได้จริงหรือไม่? มาหาคำตอบกัน, Whale Energy Station

(ที่มา: localalike.com)

 

  • Café Amazon for Chance (บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด โดยกลุ่ม ปตท. ร่วมกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (จำกัด)) ได้นำโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมมาต่อยอดกับธุรกิจร้านกาแฟ Café Amazon โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางการเรียนรู้ กลุ่มทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บจากการรบ และผู้สูงอายุ ให้มีอาชีพ มีโอกาสพัฒนาความสามารถ มีรายได้ และมีความรู้ในการประกอบธุรกิจผ่านร้าน Café Amazon

ธุรกิจเพื่อสังคม คืออะไร? ช่วยเหลือสังคมได้จริงหรือไม่? มาหาคำตอบกัน, Whale Energy Station

(ที่มา: Café Amazon for Chance)

 

ธุรกิจเพื่อสังคม: ผลกระทบต่อสังคม VS กำไร อะไรคือเป้าหมายหลัก?

เมื่ออยู่ในรูปของ ‘กิจการ’ ที่ต้องพึ่งพาตนเอง กำไรจึงถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม หากไม่มีกำไรเข้ามา กิจการก็ไม่อาจอยู่รอด ไม่อาจปฏิบัติภารกิจทางสังคมหรือสร้างผลกระทบต่อ เมื่อมองในแง่นี้ กำไรจึงดูเหมือนมีความสำคัญสูงสุด เป็นเป้าหมายหลัก แต่ในโมเดลการทำธุรกิจเพื่อสังคมนั้น พี่วาฬอาจต้องย้ำว่าแม้กำไรจะเป็น ‘สิ่งสำคัญ’ และอาจนับว่าเป็นเป้าหมายหนึ่ง แต่หัวใจหลักหรือเป้าหมายสูงสุดของธุรกิจเพื่อสังคมยังคงอยู่ที่ผลกระทบทางบวกต่อสังคม หรือตามเป้าหมายการแก้ไขปัญหาสังคมที่ธุรกิจกำหนด เช่น แม้ว่า SE รายหนึ่งจะสามารถสร้างกำไรต่อเดือนได้สูงตลอด แต่หากประเมินแล้ว พบผลกระทบทางบวกต่อสังคมน้อยมากหรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายการแก้ไขเลย ตรงนี้ก็จะถือว่า SE ไม่ประสบความสำเร็จ มาตรวัดความสำเร็จท้ายสุดของ SE จึงอยู่ที่ประสิทธิผลที่ดีต่อกลุ่มสังคมที่ SE กำหนด ไม่ใช่ยอดขายหรือผลกำไร ทั้งนี้ แน่นอนว่าการสร้างกำไรยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ SE ต้องใส่ใจควบคู่กันไป

 

การวัดผลความสำเร็จของ SE

ในการวัดความสำเร็จของ SE ส่วนใหญ่จึงจะเน้นประเมินความสำเร็จผ่านเครื่องมือการวัดผลที่เรียกว่า  Social Impact Assessment (SIA) ที่ SE แต่ละแห่งต่างต้องกำหนดตัวชี้วัดและวางแผนกันแต่แรกเริ่มและอาจกำหนดระยะเวลาการประเมิน เช่น ทุก 3 เดือน หรือ ทุก 1 ปี ตามขอบเขตและลักษณะของงาน ตลอดจนการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) ควบคู่ เป็นต้น

 

พลังวาฬ Tips: SE vs CSR ต่างกันไหม?

แม้จะมีลักษณะการทำเพื่อสังคมจากโครงสร้างของกิจการคล้ายกับ SE แต่ Corporate Social Responsibility (CSR) หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรนั้น คือการแบ่งผลกำไรจำนวนหนึ่งของกิจการมาจัดกิจกรรมทางสังคมเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นกิจการ แต่เป็นรูปแบบของนโยบาย/กิจกรรมหนึ่งในบางช่วงเวลาเท่านั้น ต่างกับ SE ที่จะเป็นกิจการเพื่อสังคมอย่างเต็มรูปแบบ ดำเนินการจัดการอย่างต่อเนื่องและบริหารทุกผลกำไรเพื่อภารกิจทางสังคมของตนเอง