ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำหรับคนที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ หลายคนอาจจะเริ่มสังเกตเห็นว่าราคาของ NGV มีการปรับขึ้นลงอยู่บ่อย ๆ และที่น่าสนใจคือราคา NGV นี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันนี่นา ทำให้หลายคนอาจจะสงสัยว่า ราคา NGV เนี่ย เขาคิดกันยังไงนะ แล้วใครเป็นคนกำหนดราคา NGV ขึ้นมา?
วันนี้พี่วาฬจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างราคาของ NGV ว่าเป็นยังไง และใครเป็นคนกำหนดราคา NGV ให้เพื่อน ๆ ฟังเอง!
แต่ก่อนอื่นพี่วาฬขอเล่าก่อนว่า NGV คืออะไร?
ก๊าซ NGV พลังงานสะอาดทางเลือกสำหรับคนใช้รถ
ก๊าซ NGV (Natural Gas for Vehicles) หรือ CNG (Compressed Natural Gas) คือก๊าซธรรมชาติที่มีองค์ประกอบหลักคือมีเทน (CH4) นำมาอัดด้วยแรงดันสูงประมาณ 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกแทนน้ำมันเบนซินหรือดีเซล
และปัจจุบันยังมีการผลิตก๊าซชีวภาพอัด (CBG: Compressed Bio-Methane Gas) จากของเสีย เช่น ขี้วัว ขี้หมู หรือเศษพืชผลทางการเกษตร มาปรับคุณภาพให้เหมือนก๊าซ NGV เพื่อใช้ในยานยนต์ เป็นอีกทางเลือกของพลังงานสะอาดอีกด้วย
ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าโครงสร้างราคาก๊าซ NGV เขาคิดราคากันยังไง และใครเป็นคนกำหนดราคากัน
โครงสร้างราคาก๊าซ NGV ราคาหน้าปั๊มมาจากไหน?
ต้องบอกเลยว่าการคิดราคาก๊าซ NGV มีอยู่หลายปัจจัย ทั้งต้นทุนและค่าใช้จ่ายของแต่กระบวนการกว่าจะออกมาเป็นก๊าซ NGV ให้เราได้ใช้กัน
วันนี้พี่วาฬจะพาไปดูกันว่ากว่าจะมาเป็นราคา NGV ต้องคำนวณจากอะไรบ้าง
- ต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้ระบบลอยตัวตามราคา พี่วาฬขออธิบายเพิ่มเติมเผื่อใครสงสัยว่า ระบบลอยตัวตามราคา Pool Gas คือยังไงนะครับ มันหมายความว่า ราคาขายปลีกก๊าซ NGV จะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของก๊าซธรรมชาติ โดยอิงจาก ราคาก๊าซเฉลี่ย (Pool Gas) ซึ่งเป็นการรวมต้นทุนของทั้งก๊าซในประเทศและก๊าซนำเข้า เช่น LNG (Liquefied Natural Gas) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นหรือลงตามราคาต้นทุนจริง แต่จะเป็นราคาย้อนหลัง เพื่อให้สะท้อนสถานการณ์พลังงานโลกอย่างเหมาะสม และช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐในการอุดหนุน NGV ต่อเนื่อง โดยหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ ราคา NGV มีความผันผวน คือราคาของ ก๊าซ LNG ซึ่งมักมีต้นทุนสูงกว่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทย
- ค่าบริการท่อส่งและการจัดหาก๊าซ : NGV ต้องส่งผ่านท่อไปยังจุดบริการต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีต้นทุนในกระบวนการนี้ และอยู่ภายใต้การกำกับโดย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในรัศมี 50 กม. : เมื่อก๊าซมาถึงสถานีก๊าซธรรมชาติหลัก จะมีการบีบอัดก๊าซเพื่อให้สามารถบรรจุในถังในปริมาณที่เหมาะสมในการใช้งานได้ และนอกจากนี้ก็ยังมีค่าขนส่งในพื้นที่ ค่าจ้างพนักงาน รวมถึงค่าบำรุงรักษาสถานีบริการก๊าซ NGV อีกด้วย
- ค่าขนส่งส่วนเกิน 50 กม. สำหรับสถานีบริการก๊าซ NGV ที่มีระยะทางห่างจากสถานีก๊าซเกิน 50 กิโลเมตร ต้นทุนการขนส่งก็จะเพิ่มขึ้นอีก 0.0150 บาท/กก./กม (สูงสุดไม่เกิน 4 บาท)
- ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และค่าภาษีบำรุงท้องถิ่นตามที่แต่ละพื้นที่กำหนด
โดยราคา NGV จะปรับทุกวันที่ 16 ของเดือนโดยคำนวณตามสูตรราคาที่ได้รับอนุมัติจากภาครัฐ และประกาศให้ทุกคนรู้ล่วงหน้า
แล้วใครเป็นคนกำหนดราคาก๊าซ NGV?
ราคาขายปลีกของก๊าซ NGV ในไทยไม่ได้ตั้งตามแบบตามใจใคร แต่มีการควบคุมการกำหนดราคาขายปลีกของก๊าซ NGV โดยนโยบายของรัฐผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลหลักเกณฑ์การกำหนดราคาพลังงานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานของประเทศนั่นเอง
และจำหน่าย ก็ต้องอ้างอิงโครงสร้างราคาที่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐทุกครั้ง โดยไม่สามารถปรับราคาขึ้น-ลงเองตามใจได้
และแม้ว่าราคาก๊าซ NGV จะมีการปรับตามต้นทุนเนื้อก๊าซธรรมชาติที่แท้จริง แต่ ปตท. ก็มีบทบาทในการบรรเทาผลกระทบ ต่อกลุ่มผู้ใช้งานบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบคมนาคมของประเทศ เช่น รถแท็กซี่ และรถโดยสารสาธารณะ หมวด 1 และ 4 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2568 โดยจำหน่ายที่ราคา 15.59 บาท/กิโลกรัม และกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ หมวด 2 และ 3 กำหนดราคาเพดานที่ 18.59 บาท/กิโลกรัม โดยได้ช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนพลังงานตั้งแต่ ปี 2555 เป็นมูลค่ารวม กว่า 36,000 ล้านบาทเลย
สำหรับคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ พี่วาฬก็หวังว่าเพื่อน ๆ จะเข้าใจและเห็นภาพเรื่องของราคาก๊าซ NGV กันมากขึ้นนะครับว่าจริง ๆ แล้วมันมีขั้นตอน ต้นทุน และค่าใช้จ่ายแฝงอยู่หลายอย่างเลย ไม่ใช่ว่าใครอยากจะขึ้นจะลงราคาก็ทำได้ตามใจชอบเลยนะ
บางทีการเติมก๊าซอาจทำให้เราไม่ทันได้คิดว่าเบื้องหลังราคาที่จ่ายไปมีอะไรบ้าง วันนี้พี่วาฬอยากชวนให้มองก๊าซ NGV ในอีกมุมว่า ราคาที่เราเห็นมันมีอะไรมากกว่าที่เราคิดเยอะเลย คราวหน้าที่เติมก๊าซเราจะได้เข้าใจที่มาของมันมากขึ้นกันนะ