NGV

พี่วาฬชวนเช็ก ขับรถ NGV ยังไงให้มีความปลอดภัย?

Pinterest LinkedIn Tumblr

พี่วาฬชวนเช็ก ขับรถ NGV ยังไงให้มีความปลอดภัย?, Whale Energy Stationรถ NGV เป็นรถพลังงานทางเลือกที่เริ่มใช้มาหลายปีแล้ว วันนี้ พี่วาฬมีเรื่อง”ความปลอดภัยของรถ NGV” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่ผู้ใช้งานทุกคนไม่ควรมองข้ามมาเล่าให้ฟังนะครับ

รถ NGV คืออะไร?

รถ NGV ใช้พลังงานจาก “ก๊าซมีเทน” ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในก๊าซธรรมชาติ นำมาเป็นเชื้อเพลิง ข้อดีคือให้พลังงานความร้อนสูง ขับเคลื่อนได้ดีไม่แพ้น้ำมัน แถมยังปล่อยมลพิษน้อยกว่า ลดทั้งก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่น PM อีกต่างหาก

และอีกหนึ่งข้อดีของมีเทนคือ เป็นก๊าซที่เบากว่าอากาศ เวลามีการรั่วไหล จะลอยขึ้นฟ้าและสลายตัวเร็ว จึงไม่ค่อยเกิดการสะสมในพื้นที่ต่ำ ๆ เหมือนเชื้อเพลิงบางชนิด

แต่…เรื่องที่ต้องระวังมากๆ ของก๊าซมีเทนเนี่ย คือมันเป็นก๊าซที่อัดให้กลายเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ยากมากๆ เพื่อกักเก็บมันให้ได้ปริมาณเยอะๆ พอให้รถวิ่งไปไหนมาไหนได้ไกลๆ ก็คือ ต้อง อัดมันด้วยแรงดันที่สูงมากๆ โดยการเก็บมีเทนในรถต้องอัดไว้ในแรงดันสูงถึง 200–250 บาร์ เพื่อให้สามารถขับขี่ได้ระยะทางพอเหมาะ ซึ่งแรงดันขนาดนี้ ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ครับ

แล้วแรงดัน 200 บาร์ นี่แรงแค่ไหน?

พี่วาฬขอเปรียบเทียบง่าย ๆ เพื่อให้เพื่อน ๆ เห็นภาพนะครับ แรงดันบรรยากาศรอบตัวเราคือ 1 บาร์ ส่วนถัง LPG ในบ้านหรือรถทั่วไปมีแรงดันประมาณ 5 – 7 บาร์ เท่านั้นเอง ถ้าเทียบกับถัง NGV ที่อัดถึง 200 บาร์ เรียกได้ว่าแรงดันสูงกว่าหลายสิบเท่า

ดังนั้นพี่วาฬบอกเลยว่า ถังที่เก็บแรงดันระดับนี้จึงต้องแข็งแรงสุด ๆ ผลิตจากเหล็กไร้ตะเข็บ หรือวัสดุคอมโพสิตพิเศษที่ทนต่อแรงดันได้ และต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดหลายขั้นตอนก่อนจะนำมาใช้งานได้

ความปลอดภัยของรถ NGV ไม่ได้อยู่แค่ที่ถัง

หลายคนเข้าใจว่า “ถังเท่านั้น” ที่ต้องแข็งแรง แต่ความจริงแล้ว ระบบ NGV ทั้งชุด และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ท่อส่งก๊าซ วาล์ว ไปจนถึงหัวเติม ต้องใช้วัสดุพิเศษที่ทนแรงดันสูง และติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับใบรับรองเท่านั้น ห้ามดัดแปลงเองเด็ดขาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วาล์วและท่อ ถ้าเกิดรั่วเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของความเสียหายใหญ่ได้ เพราะแรงดันที่สะสมภายในสูงมาก

อายุการใช้งานของอุปกรณ์ NGV ก็สำคัญนะ

เนื่องจากอุปกรณ์ NGV มีอายุการใช้งานจำกัด และเสื่อมสภาพได้ตามเวลา โดยเฉพาะรถที่ใช้งานหนักหรือวิ่งทุกวัน เช่น รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก หรือแท็กซี่  ระบบ NGV อาจเสื่อมเร็วขึ้น จึงต้องตรวจสภาพบ่อยเป็นพิเศษ ดังนี้

  • ถัง NGV มีอายุเฉลี่ย 15 – 20 ปี หลังจากนั้นแม้ภายนอกดูดี แต่ถ้าเรายังใช้ถังที่หมดอายุไปแล้ว ข้างในถังอาจจะเริ่มมีรอยร้าวเล็ก ๆ จากแรงดันสะสม ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็ได้ แล้วถ้าเรายังไปเติมก๊าซแรงดันสูง ๆ เข้าไปอีกเนี่ย บอกเลยว่าอันตรายสุด ๆ
  • ท่อและวาล์ว ก็มีอายุการใช้งานเช่นกัน หากกรอบหรือเสื่อมสภาพจะเกิดการรั่วหรือแตกหักได้ง่าย อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงได้

การดูแลบำรุงรักษารถ NGV ตรวจเช็กง่าย ๆ ก่อนออกเดินทาง

เพื่อความปลอดภัย พี่วาฬแนะนำว่า ไม่ต้องรอให้ถึงรอบตรวจประจำปี ทุกคนสามารถตรวจเช็กอุปกรณ์ NGV ด้วยตัวเองเบื้องต้นได้เลย เช่น

✅ ตรวจดูวันหมดอายุของถัง NGV

✅ สังเกตสภาพภายนอกถังว่ามีรอยบุบ รอยสนิม หรือรอยรั่วหรือไม่

✅ ตรวจดูท่อว่ามีรอยร้าว กรอบ แตก หรือไม่

✅ ตรวจวาล์วว่ามีเสียงรั่ว หรือการทำงานผิดปกติหรือเปล่า

ถ้าเพื่อน ๆ พบสิ่งผิดปกติ อย่ารอช้า ควรนำรถเข้าตรวจสอบที่ ผู้ติดตั้ง NGV ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกโดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าสภาพอุปกรณ์ยังปลอดภัย พร้อมใช้งานทุกการเดินทาง

บทสรุปเรื่องความปลอดภัยรถ NGV

แม้ว่ารถ NGV เป็นพลังงานสะอาดและประหยัด แต่การใช้งานต้องมาพร้อมกับความเข้าใจเรื่องแรงดันและความปลอดภัยด้วย เพราะระบบ NGV ต้องรองรับแรงดันสูงมาก อุปกรณ์ทุกชิ้นจึงต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์เสมอ การตรวจเช็กอย่างสม่ำเสมอไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค แต่คือความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและคนรอบข้าง

—————

หากเพื่อนๆ ชอบความรู้ดีๆ แบบนี้ สามารถติดตามสาระพลังดี ๆ เรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ราคาน้ำมันในตลาดโลก หรือถ้าอยากรู้เพิ่มเติมว่าเทคโนโลยี CCS คืออะไร?

อ่านต่อได้ที่บทความ เทคโนโลยี CCS ได้เลยนะครับ