เทคโนโลยี

พี่วาฬชวนรู้ เทคโนโลยี CCS คืออะไร มีส่วนช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อย่างไร

Pinterest LinkedIn Tumblr

พี่วาฬชวนรู้ เทคโนโลยี CCS คืออะไร มีส่วนช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อย่างไร, Whale Energy Station
ในโลกที่เราต้องเผชิญกับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) หรือการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมหนักได้
อย่างเป็นรูปธรรม

แล้ว CCS คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญ? แล้วประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีมาใช้แล้วหรือยัง มาครับ วันนี้พี่วาฬจะมาสรุปให้ทุกคนฟังเอง

CCS คืออะไร?

CCS ย่อมาจาก Carbon Capture and Storage หมายถึงการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมี แล้วนำก๊าซนั้นไปเก็บไว้อย่างถาวรใต้ดิน ป้องกันไม่ให้มันลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน

ขั้นตอนหลักของ CCS มี 3 ขั้นตอน คือ

  1. การดักจับ (Capture) – การดักจับ CO₂ จากกระบวนการผลิต หรือหลังจากการเผาไหม้ เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยไอเสีย
  2. การขนส่ง (Transport) – ลำเลียง CO₂ ไปยังพื้นที่จัดเก็บ
  3. การกักเก็บ (Storage) –อัดCO₂ ลงไปเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินลึกหรือแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่หมดแล้ว ไม่ให้รั่วไหลออกมาที่ชั้นบรรยากาศของโลก

พี่วาฬชวนรู้ เทคโนโลยี CCS คืออะไร มีส่วนช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อย่างไร, Whale Energy Station

ในอนาคตเทคโนโลยี CCS จะมีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมที่ยากต่อการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด

ความสำคัญของ CCS กับเป้าหมาย Net Zero

CCS คือ เทคโนโลยีสำคัญที่ได้รับการยืนยันจากหลายประเทศแล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง โดยเป็นสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการนำไปใช้ และยอมรับว่า CCS เป็นหนึ่งในทางออกสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions เพราะสามารถนำไปใช้บริหารจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก เหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก

  • The United Nations’ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) รายงานถึงความสำคัญของ CCS ในการบรรลุเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ให้อยู่ระหว่าง 1.5 – 2 องศาเซลเซียส
  • The International Energy Agency (IEA) รายงานถึงบทบาทสำคัญของ CCS ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบางกระบวนการ และบางอุตสาหกรรม เช่น การผลิตไฟฟ้า การแยกก๊าซธรรมชาติ การผลิตปูนซีเมนต์ เหล็กกล้า และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
  • ปัจจุบันมีโครงการ CCS ที่ดำเนินการอยู่กว่า 50 แห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในอเมริกา และทวีปยุโรป

พออ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ รู้แล้วว่าเทคโนโลยี CCS คืออะไร มีประโยชน์แค่ไหน และคงจะดีไม่น้อยถ้าประเทศเรามีการพัฒนาในเรื่องนี้ด้วย พี่วาฬเลยอยากบอกข่าวดีทุกคนไว้ตรงนี้เลยว่า ประเทศไทยก็มีแนวทางดำเนินโครงการ CCS แต่จะเป็นโครงการอะไรนั้น พี่วาฬจะเล่าทุกคนฟังเองครับ

Eastern Thailand CCS Hub โปรเจกต์ใหญ่จากกลุ่ม ปตท.

หนึ่งในโครงการ CCS ที่น่าจับตามองที่สุดในไทยตอนนี้ คือ Eastern Thailand CCS Hub ของกลุ่ม ปตท. ที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ในพื้นที่ปฏิบัติการของ กลุ่ม ปตท. จังหวัดระยอง และชลบุรี ซึ่งจะเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายผลเทคโนโลยี CCS ในระดับประเทศในอนาคต โดยตอนนี้กลุ่ม ปตท. อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับภาครัฐเพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนที่เกี่ยวข้องควบคู่กับการศึกษาและวางแผนโครงการในหลายด้าน เช่น

  • ศึกษาด้านเทคนิควิศวกรรม สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • ศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
  • หารือกับภาครัฐเพื่อวางกรอบการส่งเสริมการลงทุนด้าน CCS เพื่อผลักดันเทคโนโลยีนี้ให้เกิดการใช้งานจริงในประเทศไทย

พูดง่ายๆ คือ กลุ่ม ปตท. ไม่ได้มอง CCS แค่ในเชิงเทคโนโลยี แต่พยายามพัฒนาให้ครบทุกด้านตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อให้สามารถเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยได้ ซึ่งถ้าโครงการสำเร็จ คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สูงถึง 10 ล้านตันต่อปีครับ

ถ้า CCS Hub ของ กลุ่ม ปตท. สำเร็จจะส่งผลดีต่อประเทศไทยอย่างไร?

  1. ลดผลกระทบ CBAM มากกว่า 600 ล้านบาทต่อปี ลดความเสี่ยงจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป
  2. ส่งเสริมการลงทุนคาร์บอนต่ำ วางรากฐานสำหรับการลงทุนคาร์บอนต่ำ โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไฮโดรเจนสีฟ้า และผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ
  3. สร้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ตำแหน่ง สำหรับการพัฒนา และการดำเนินงานโครงการ CCS และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

สรุปส่งท้าย พออ่านมาถึงตรงนี้พี่วาฬคิดว่าเพื่อน ๆ คงรู้แล้วว่าเทคโนโลยี CCS เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นตัวช่วยให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานและการลดคาร์บอนสำเร็จเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจ การลงทุน รวมไปถึงการสร้างงานได้อีกด้วย  และยิ่งพี่วาฬเห็นบริษัทใหญ่อย่างกลุ่ม ปตท. ลงมาลุยเรื่องนี้อย่างจริงจังผ่าน Eastern Thailand CCS Hub  ก็ทำให้เห็นภาพว่า ถ้ามีความร่วมมือ และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ประเทศไทยก็สามารถเดินหน้าไปสู่ Net Zero ได้เช่นกัน