น้ำมัน

พี่วาฬสรุปให้ฟัง ทำไมไทยต้องอิงราคาน้ำมันตลาดโลก

Pinterest LinkedIn Tumblr

พี่วาฬสรุปให้ฟัง ทำไมไทยต้องอิงราคาน้ำมันตลาดโลก, Whale Energy Station

ราคาน้ำมันไทย ทำไมต้องขึ้นลงตามราคาตลาดโลก?

เพื่อน ๆ เคยสงสัยมั้ยครับว่า “ทำไมราคาน้ำมันไทยต้องขึ้นลงตามราคาตลาดโลก?” ทำไมเรากำหนดราคาซื้อขายเองตามชอบไม่ได้ วันนี้พี่วาฬจะมาสรุปให้ทุกคนฟังกันครับ

ราคาน้ำมันเกี่ยวอะไรกับตลาดโลก?

เพราะน้ำมันเป็น “สินค้าสากล” ที่มีการซื้อขายกันทั่วโลก ราคาน้ำมันจึงไม่ได้ขึ้นกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่สะท้อนจากความต้องการและปริมาณน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เข้ามากำหนด เช่น

  • อุปสงค์ – อุปทาน ถ้าน้ำมันมีความต้องการสูง แต่ผลิตได้ไม่พอ ราคาก็จะสูงขึ้น ในทางกลับกันถ้าผลิตออกมามากเกินความต้องการ ราคาก็จะลดลง
  • นโยบายของกลุ่ม OPEC และประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ หาก OPEC ลดกำลังการผลิต ราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
  • เหตุการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลก ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง การคว่ำบาตรประเทศผู้ผลิต หรือวิกฤตเศรษฐกิจในบางภูมิภาค ล้วนมีผลต่อราคาน้ำมัน

แล้วไทยเกี่ยวข้องอย่างไร?

แม้ว่าไทยจะมีแหล่งน้ำมันดิบในประเทศ แต่ก็ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน โดยผลิตได้ประมาณ 15-20% ของการใช้งานเท่านั้น จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก (ส่วนนี้ใครอยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติม พี่วาฬมีสรุปไว้ให้ในนี้แล้วครับ > พี่วาฬตอบข้อสงสัย ทำไมโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันไทยต้องเป็นแบบนี้)  ดังนั้นราคาน้ำมันในประเทศไทยจึงต้องอ้างอิงตามราคาตลาดโลก เพื่อให้สามารถนำเข้าและแข่งขันในตลาดพลังงานโลกได้ ซึ่งราคาน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทยมีการอ้างอิงมาจากตลาดสิงคโปร์ หรือ Singapore International Monetary Exchange (SIMEX) เพราะเป็นศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคเอเชีย และมีปริมาณการซื้อขายที่สูง สำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์จึงเป็นราคาที่สะท้อนสภาพตลาด ภาวะอุปสงค์และอุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าไทยไม่อิงราคาตลาดโลกจะเป็นอย่างไร?

บางคนอาจสงสัยว่า ถ้าเราตั้งราคาน้ำมันให้ต่ำกว่าราคาตลาดโลกเพื่อช่วยลดค่าครองชีพจะไม่ได้หรือ? คำตอบคือ ในระยะสั้นอาจทำให้ประชาชนรู้สึกว่าค่าครองชีพถูกลง แต่ในระยะยาวจะส่งผลกระทบหลายด้าน เช่น

  • ภาระงบประมาณรัฐ รัฐอาจต้องชดเชยราคาน้ำมัน ทำให้ใช้งบประมาณที่ควรไปพัฒนาด้านอื่น เช่น การศึกษา สาธารณสุข เป็นต้น
  • ขาดแรงจูงใจในการประหยัดพลังงาน ถ้าน้ำมันราคาถูกเกินไป คนจะใช้พลังงานอย่างไม่ระมัดระวัง
  • เสียโอกาสในการพัฒนาพลังงานทางเลือก การควบคุมราคาน้ำมันอาจทำให้พลังงานทดแทน เช่น ไฟฟ้าหรือพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่สามารถแข่งขันได้

แล้วเราจะรับมือกับราคาน้ำมันโลกที่ผันผวนได้อย่างไร?

พี่วาฬคิดว่า แม้เราจะควบคุมราคาน้ำมันตลาดโลกไม่ได้ แต่เราสามารถเตรียมรับมือได้ครับ เช่น

  • ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตประจำวัน เช่น เดินทางร่วมกัน ใช้ขนส่งสาธารณะ หรือดูแลรักษารถให้อยู่ในสภาพดีเพื่อลดการใช้น้ำมัน
  • สนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานชีวมวล
  • ส่งเสริมนโยบายประหยัดพลังงาน ทั้งในระดับบุคคล ธุรกิจ และภาครัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน

เป็นยังไงกันบ้างครับเพื่อน ๆ หลังอ่านมาถึงตรงนี้ พี่วาฬหวังว่าหลายคนคงเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมราคาน้ำมันไทยต้องขึ้นลงตามราคาตลาดโลก และถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมราคาซื้อขายได้โดยตรงเพราะมันเป็นไปตามกลไกของราคาตลาดโลกและอีกหลายปัจจัยตามที่กล่าวไปข้างต้น แต่พี่วาฬคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราช่วยกันทำได้แน่นอน คือการหันมาให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน ใช้น้ำมันอย่างรู้คุณค่า  สนับสนุนพลังงานทางเลือก ซึ่งการประหยัดพลังงานไม่เพียงแต่ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและค่าครองชีพ แต่ยังเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนด้วยเช่นกันครับ